ติดกับดักการตลาด? ชำแหละทุกข้อสงสัย มหากาพย์เค้กกล้วย ลอก รอด รวย!

  • 11 พ.ค. 2563
  • 444
หางาน,สมัครงาน,งาน,ติดกับดักการตลาด? ชำแหละทุกข้อสงสัย มหากาพย์เค้กกล้วย ลอก รอด รวย!

ในตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ลอกเลียนสูตรขนมของ SMEs รายย่อย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนัก แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อไป

ทว่า สิ่งสำคัญที่คุณและคุณ ควรตระหนักและรับรู้ไว้ หากวันใดวันหนึ่งคุณโดนยักษ์ใหญ่เอาเปรียบ คุณจะต้องรับมือด้วยวิธีการใด พร้อมวิเคราะห์ปมดราม่าร้อนไปกับป๋าโหด อย่าง อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ขาโหดแห่ง SMEs นักการตลาดฝีปากกล้า ว่าเรื่องราวร้อนแรงเกี่ยวกับขนมปังกล้วยนี้ คุณตกหลุมพรางดราม่าการตลาดอยู่หรือไม่? แท้จริงแล้วงานนี้ ลอก ไม่ลอก? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบมาเสิร์ฟให้คุณแล้ว...

น่าลิ้มลอง

แผนสูงมาถูกทาง! การตลาดดราม่า เรียกลูกค้าแห่ซื้อกิน (หรือ) ?
“เรื่องยักษ์ใหญ่ชื่อดังรังแก SMEs นั้น ถือว่าเป็นเรื่องดราม่าอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเล่าเรื่องกันคนละแบบ แต่พล็อตเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ถือว่า ดราม่าจริงๆ แต่ในทางการตลาดนั้น SIAM BANANA ถือว่าเปิดตัวสินค้าได้ยอดเยี่ยมมาก” อ.ธันยวัชร์ กล่าวในเชิงการตลาด

ก่อนอื่น คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สินค้าที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ อยู่กันคนละตลาด ซึ่งในส่วนของ เค้กสอดไส้คัสตาร์ด รสกล้วยของยักษ์ใหญ่ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับโตเกียวบานาน่า และมีราคาถูกเพียง 12 บาท แต่ในส่วนของ SIAM BANANA จะสอดไส้กล้วยใส่ลงไปจริงๆ มีราคาสูงถึงชิ้นละ 27.50 บาท ซึ่งสินค้าของยักษ์ใหญ่ 2 ชิ้นยังไม่ได้ราคาของ SIAM BANANA ชิ้นเดียวเลย จึงส่งผลให้ความดราม่าบังเกิดขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า สินค้ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน และอยู่ในตลาดเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และซื้อมาลิ้มลอง

ไม่จำเป็นต้องนำสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็รวยได้

ขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนที่มองว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ อาจเป็นแผนการตลาดจากทางยักษ์ใหญ่ เพื่อสร้างยอดขาย และเปิดตัวสินค้าของตัวเองเสียด้วยซ้ำ เพราะนอกเหนือจาก SIAM BANANA ที่ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแล้ว ในส่วนเค้กของยักษ์ใหญ่ ก็ขายดีไปด้วย นักการตลาดฝีปากกล้า มองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ชื่อเสียงของยักษ์ใหญ่ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้นับว่า เขาไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย และชื่อเสียงค่อนไปในทางลบเสียมากกว่า แต่ถ้าถามว่าขายดีขึ้นไหม อย่างคนที่ไม่เคยกิน ไม่เคยรู้จักเลย ก็จะต้องไปซื้อมาลอง ไปดูว่า ที่ลือเรื่องขโมยสูตรนั้น มันเหมือนกันเป๊ะหรือไม่ เชื่อว่าขายดีทั้งของยักษ์ใหญ่ ของ SMEs และของโตเกียวบานาน่า”


หลังจากมีกระแสข่าวเกิดขึ้น ยอดขายสินค้ามากมายถล่มทลาย

คนละไส้ คนละแป้ง! งงจัง...สรุปลอก ไม่ลอก?
“สินค้าของทั้งสองฝ่าย มีวัตถุดิบและรสชาติที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของยักษ์ใหญ่มีความคล้ายคลึงกับของโตเกียว บานาน่า คือเป็นคัสตาร์ดรสกล้วย ส่วนของ SMEs นั้น จะใส่กล้วยเข้าไปจริงๆ ดังนั้น ถ้าลอกเลียนก็จะต้องเหมือนกันหมดทุกอย่าง แม้กระทั่งไส้และราคา ซึ่งจุดนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สินค้าของทั้งสองฝ่ายมีตลาดที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น SIAM BANANA ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว ช่องทางการจำหน่ายมีมากมาย” นักการตลาดอย่าง อ.ธันยวัชร์ วิเคราะห์รอบด้าน

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทในเครือของยักษ์ใหญ่ไม่ได้พูดคุยหารือกัน ขนาดบริษัทในเครือยังทำสินค้าออกมาขายแข่งกันเองเลย อย่างเช่น เกี๊ยว ก็ยังมีเกี๊ยวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดจากบริษัทในเครือส่วนหนึ่งได้ไปตกลงทำความเข้าใจกับ SMEs เอาไว้ โดยที่ยังไม่ได้คุยกับบริษัทในเครืออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถทำได้แล้ว แต่ไม่ได้รายงานกันก่อน จึงเกิดเหตุการณ์อย่างที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

ยอดขายพุ่งกระฉูด


รวยเละ! ไม่ง้อร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ วิธีง่ายง่ายๆ คุณทำได้แน่นอน
เหล่า SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ทั้งหลายต่างอยากนำสินค้าของตัวเองเข้าร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ของประเทศ แต่ขาโหดแห่ง SMEs พูดโผงผางตามสไตล์ว่า อันที่จริงแล้ว คุณไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามเอาสินค้าไปวางขายในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ โดยอันดับแรกที่ควรคำนึงถึง ก็คือ สินค้าของคุณเป็นสินค้าอะไร และจะต้องวางขายสินค้าในสถานที่ใดจึงจะเหมาะสม และคุณต้องตระหนักด้วยว่า หากคุณต้องการนำสินค้าไปวางไว้ในร้านสะดวกซื้อทั้งหมด 8,000 สาขา แต่กลับขายไม่หมด คุณไม่เจ๊งหรือ ?

ภายใน 1 กล่อง มีทั้งหมด 8 ชิ้น

“ยกตัวอย่างเช่น SIAM BANANA ที่ในตอนแรกเจ้าของแบรนด์วิเคราะห์ว่า สินค้าตัวเองจะต้องนำไปวางไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้สินค้าตัวเองเป็นสินค้าของฝาก ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะด้วยความที่ SIAM BANANA มีราคาค่อนข้างแพง จึงเหมาะแก่ร้านที่ลูกค้ามีความสามารถในการซื้อ เช่น King Power, สนามบินสุวรรณภูมิ หรือจังหวัดแห่งการท่องเที่ยว เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ อีกทั้งยังมีธุรกิจขนาดเล็กหลายต่อหลายแห่ง ที่ไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่ก็ขายดิบขายดีเป็นเทนำ้เทท่า เพราะสินค้าที่มีราคาสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้ามหาชน แต่ขอให้คุณวางสินค้าไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม” นักการตลาดเลื่องชื่อ แนะนำ

พร้อมกันนั้น ธุรกิจหลายประเภทยังมีการทำ Viral Marketing โดยอาศัยเทคนิคการทำการตลาดที่ใช้สื่อ Social Networks ที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ โดยสร้างเรื่องราวให้โดนใจ น่าคอมเมนต์ น่าแชร์ มีความเป็นดราม่า เป็นพลังบอกต่อให้มาซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี และในกรณีนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังทำ Viral Marketing อยู่


ราคากล่องละ 220 บาท หากซื้อที่ตลาดบองมาเช่ จะมีราคาอยู่ที่กล่องละ 250 บาท


สมมติว่า คุณถูกยักษ์ใหญ่ก๊อบงาน ทางรอดของคุณ คือ...?
ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง แนะนำทางออกให้แก่เหล่า SMEs ในกรณีที่คุณกำลังจะโดนยักษ์ทับรอย โดยมีข้อพึงตระหนัก ดังนี้ 
1. เวลาที่เหมาะสมที่คุณจะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดมหาชน อยู่ ณ เวลาใด 
2. ความพร้อม ของคุณเพียงพอแล้วหรือยัง 
3. สิ่งที่คุณต้องระมัดระวัง คืออะไร 
4. อย่านำไข่ไว้ในตะกร้าเดียว โดยหมายความว่า หากจะนำสินค้าออกขาย อย่าคิดเพียงแต่จะนำไปขายที่ยักษ์ใหญ่เพียงอย่างเดียว จงคิดถึงช่องทางอื่นๆให้เหมาะสมพอดิบพอดีกันด้วย เช่น ขายในร้านค้าปลีกอื่นๆ ขายในร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ

ห่อบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น ทีมข่าวได้ต่อสายตรงถึง ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีแก้ เมื่อคุณ ผู้เป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ โดนเจ้าพ่อลอกเลียนสินค้า จะทำเช่นไร นักเศรษฐศาสตร์ผู้มากประสบการณ์ อธิบายว่า ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงใดก็ตาม เช่น ลูกจ้างกับนายจ้าง พนักงานกับบริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่ง SMEs กับร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ก็ตาม ทุกแวดวงมักเจอปัญหาที่คล้ายคลึงกัน 2 ประการ คือ

1. ขาดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการทำสัญญากับคู่ค้ารายใหญ่ โดยมีความเข้าใจที่ว่ารายละเอียดในการทำสัญญาของธุรกิจรายใหญ่ ย่อมเหมือนๆ กันกับ SMEs รายอื่น ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ธุรกิจขนาดเล็ก เข้าใจไปเสียเองว่า สัญญาที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทำขึ้น ธุรกิจเล็กรายอื่นๆ เขาก็ทำกัน และเชื่อว่าสัญญาที่ว่านี้เหมาะสมแล้ว แต่อันที่จริง ด้วยสัญญานั้นอาจทำให้ธุรกิจรายเล็กโดนเอาเปรียบอยู่ก็เป็นได้ และเมื่อรู้ตัวว่า เสียรู้ไปแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มาก เพราะหวั่นว่ารายใหญ่จะยกเลิกออเดอร์

2. ขาดอำนาจต่อรอง เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าย่อมมีความสามารถทางกำลังเงินและมีบุคคลที่เชี่ยวชาญทางกฎหมายและคดีความ ซึ่งในบางครั้ง ผู้ที่มีความรู้มากๆ ก็ยังขาดอำนาจต่อรอง เพราะถ้าต่อรองมากๆ แล้ว อาจโดนลดออเดอร์หรือยกเลิกออเดอร์จากรายใหญ่ได้

สยาม บานาน่า บูธที่เซ็นทรัลรัตนาธิเบศ ของหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

ส่วนทางรอดของ SMEs ทั้งหลายก็คือ 1. ต้องระมัดระวังในเรื่องของการเซ็นสัญญา 2. อย่าเชื่อใจมากเกินไป หรืออย่าเชื่อว่าบริษัทใหญ่จะไม่โกงบริษัทเล็ก เพราะเขารวยแล้ว 3. ไม่ควรบอกสูตร หรือความลับของสินค้ากับคู่ค้า

หากเกิดเหตุการณ์ธุรกิจรายใหญ่ลอกเลียนสินค้าธุรกิจรายเล็กจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐไม่มีกลไกที่จะปกป้องประชาชนที่ขาดกำลัง เช่น หาก SMEs รายเล็กจะไปต่อสู้ขอความยุติธรรม ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการต่อสู้ทางคดีความต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากๆ และมีโอกาสแพ้สูง ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมอย่างหนึ่ง

“รัฐบาลควรเข้ามาดูแล พร้อมหาทางออกให้กับภาคประชาชน ที่กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไม่เคยเหลียวแลคนในวงการนี้เลย” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังทิ้งทายถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง.


สุดท้าย ใครกันแน่ที่โดนหลอก...ยักษ์ใหญ่ รายเล็ก หรือ คุณ? ลองตรองดูเถิด! 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top