ผู้สมัครงาน
หากย้อนไป 20 ปี ก่อน จังหวัดนราธิวาส ก็นับว่าคล้ายดินแดนสนธยาลึกลับซ่อนเร้น ความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์ถูกซ่อนไว้ใต้เงาไม้และขุนเขา แม้หนทางจะอยู่สุดหล้าฟ้าไกล ถึงแม้การเดินทางจะยากลำบากแค่ไหน แต่ไม่อาจขวางกั้นน้ำพระทัยที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงใยพสกนิกรได้ เมื่อเรื่องราวของ นางสาวตอยยีบะห์ สือแม ทราบไปถึงพระกรรณ องค์สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงทรงห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง และด้วยพระบารมีทำให้ขุนเขาและป่าไม้ไม่อาจอำพรางความทุกข์ร้อนของพสกนิกรได้ พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ หลังจากนั้นชีวิตของเด็กหญิงตอยยีบะห์ ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับเชิญจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการช่วยเหลือ นางสาวตอยยีบะห์ และได้เดินทางมาถึง จ.นราธิวาส เมื่อไปถึง นางสาวตอยยีบะห์ หญิงสาววัย 24 ปี มีรูปร่างที่พิเศษ กล่าวคือเป็นคนที่ไม่มีทั้งแขนและขา เวลาเดินเหินไปไหนจะใช้วิธีการกระเถิบด้วยลำตัว หยิบจับสิ่งของต่างๆ ด้วยคาง แต่จากการพูดคุย... น้ำเสียงของเธอสดใส ใบหน้าเอิบอิ่มยิ้มแย้มแฝงไปด้วยความสุข
ตอยยีบะห์ สือแม กับน้องสาวที่คอยดูแลกันแบบไม่ห่างกาย
นางสาวตอยยีบะห์ สือแม ได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความอาภัพทางร่างกายไร้ซึ่งแขนและขา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่และน้องสาวที่คอยเฝ้าดูแลอย่างไม่ย่อท้อ หวังเพียงสักวันหนึ่งครอบครัวจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ความฝันกับความจริงมันช่างขัดแย้งกันจนไม่กล้านึกถึง อีกทั้งการที่เกิดเป็นคนพิการ ไม่มีทั้งแขนและขานั้น ทำให้ต้องเผชิญความทุกข์ยากมากกว่าคนทั่วไปเป็นเท่าทวี ด้วยฐานะทางบ้านก็ยากจนแร้นแค้น ปัจจัยสี่ยังมีไม่ครบ ก็มาเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อบิดามาถูกพรากชีวิตจากไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์หลังจากเธอลืมตาดูโลกได้เพียงแค่ 2 ปี เหลือไว้เพียงมารดาและน้องสาวที่ต้องคอยแบกรับทุกอย่างไว้
ชีวิตที่เกิดมาไม่มีทั้งแขนและขา เวลาเดินทางไปไหนมาไหนก็เป็นอุปสรรค พาหนะอย่างเดียวที่ใช้ในการเดินทางคือรถจักรยานยนต์ธรรมดา แม่จะผูกตัวติดกับเอวไว้แล้วให้น้องสาวซ้อนท้ายประกบอีกที "ฝนที่ตกลงมาเป็นปกติของนราธิวาส ทำให้รถมอร์เตอร์ไซค์คู่ชีพ ต้องแล่นถลาไปบนถนนลูกรังสีแดง ที่กลายสภาพเป็นโคลนเคลือบน้ำมันหล่อลื่น ทำให้สามแม่ลูกลงมานอนเกลือกกลิ้งเป็นประจำ มันเป็นแบบนี้ทุกวันเหมือนฉายหนังซ้ำ"
ตอนเป็นเด็กฝันไว้ว่าอยากจะเรียนจบสูงๆ แต่ชีวิตจริงที่เป็นอยู่ ทั้งความพิการและฐานะทางบ้าน ทำให้ไม่ยากเกินกว่าจะคาดเดา ว่าความฝันคงไม่อาจเป็นไปได้ ครั้นเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่จะต้องเข้าโรงเรียน ก็ยังไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ เพราะต้องรอให้น้องสาวอายุถึงเกณฑ์ด้วย เนื่องจากน้องสาวจะเป็นคนที่คอยดูแลและให้การช่วยเหลือ ทำหน้าที่แทนแขนขาของพี่สาวที่หายไป
โซเฟีย น้องสาวที่เป็นเสมือนแขนขาที่ขาดหายไปของตอยยีบะห์ สือแม
"หัวอกของคนเป็นแม่ เกิดวิตกกังวลกลัวว่าลูกสาวจะไม่สามารถเรียนหนังสืออย่างที่ฝันไว้ อาจารย์ทวี หนูวุ่น ครูใหญ่สมัยอนุบาลเล็งเห็นว่าแม้จะมีความพิการแต่ก็เป็นเพียงทางด้านร่างกายเท่านั้น สติปัญญายังเป็นปกติ จึงรับเอาเด็กหญิงพิการเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆ และได้มอบหมายให้อาจารย์ช่วยกันดูแลเป็นพิเศษ และยังให้แม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว มาทำงานเป็นแม่ครัวของโรงเรียน เพื่อให้สามารถดูแลลูกสาวได้อย่างใกล้ชิดพร้อมกับทำงานหารายได้เลี้ยงชีพไปด้วย เพราะความอนุเคราะห์ของอาจารย์ใหญ่ จึงทำให้ครอบครัวมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตอีกครั้ง" อาจารย์ทวี ท่านคือคนที่เปิดทาง ให้ก้าวแรกของความฝันให้กลายเป็นความจริง
"แม้ตอนนั้นจะเป็นเด็ก แต่วันเวลาไม่อาจลบเลือนความทรงจำที่ยากลำบากเมื่อครั้งวัยเยาว์ลงได้ ภาพความทรงจำของคุณครูที่โรงเรียนจะต้องคอยช่วยกันอุ้มทุกครั้ง เพื่อพาไปทำกิจวัตรประจำวัน น้องสาวที่คอยดูแลไม่ห่างกาย ทำหน้าที่ทุกอย่าง เป็นเสมือนแขนขาที่ขาดหายไป ส่วนแม่ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายแลกกับการเห็นลูกๆ กินอิ่มนอนหลับ ตั้งแต่จำความได้ แม่ไม่เคยบ่นน้อยใจในโชคชะตา สิ่งเดียวที่แม่หวังคือดูแลสิ่งที่พระเจ้ามอบให้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อให้เหนื่อยยากแค่ไหนก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะแม่ไม่เคยเอ่ยคำว่าท้อแท้ออกมาให้ลูกสาวทั้งสองได้ยินแม้แต่ครั้งเดียว" นางสาวตอยยีบะห์ ย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กที่ลำบากยากเข็ญ
ชีวิตถูกลิขิตให้เด็กหญิงตอยยีบะห์ต้องเจอบทพิสูจน์อันโหดร้าย เป็นการทดสอบจิตใจให้เข้มแข็ง หลังจากต้องเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัสเป็นเวลากว่า 5 ปี จนในที่สุดแสงแห่งน้ำพระทัยก็ส่องผ่านขุนเขาและเงาไม้แห่งดินแดนสนธยา มาถึงเด็กหญิงตอยยีบะห์ เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โรงเรียนบ้านเขาตันหยง ทันทีที่ทรงทอดพระเนตรเด็กน้อยไร้ซึ่งแขนขาผิดแปลกไปจากคนทั่วไป และเมื่อทรงทราบเรื่องราวชีวิตอันยากลำบากเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการของเด็กหญิงตอยยีบะห์ สือแม และครอบครัว พระองค์(เกิดความสงสาร)และห่วงใยจึงรับเด็กหญิงตอยยีบะห์ไว้ในพระราชูปถัมภ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตของเด็กน้อยผู้อาภัพก็เปลี่ยนไปตลอดกาล...
ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปักปลา เล่าถึงสภาพของโรงเรียนในอดีตว่ามีสภาพไม่ต่างกับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร พื้นยังเป็นดินลูกรัง อุปกรณ์ทางการศึกษาก็ธรรมดาทั่วไป ครั้งแรกที่ทราบข่าวว่าจะมีเด็กพิการที่ไม่มีทั้งแขนและขาเข้ามาเรียนก็ตอบรับไปทันที และเมื่อได้เห็นสภาพของเด็กน้อยพิการแขนขาก็เกิดความสงสารและเห็นใจ แต่ในใจยังกังวลอยู่ว่าจะสามารถดูแลได้ไหม
คุณดิรก ศิริวัลลภ ผู้ที่พาตอยยีบะห์ เข้าเฝ้าฯ พระเทพฯ
"โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมในทุกด้าน ครูเองก็ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลคนพิการลักษณะแบบนี้มาก่อน ทุกๆ คนช่วยกันเอาใจใส่ดูแล เพื่อเติมเต็มสิ่งที่เด็กน้อยได้ขาดหายไป" ในที่สุดหลังจากเข้าโรงเรียนได้ 1 ปี จึงได้พาเด็กหญิงตอยยีบะห์เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพฯ"
สมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรร่างกายของเด็กน้อยด้วยความอาดูร เรื่องราวชีวิตแสนอาภัพได้ถูกถ่ายทอดจากปากของสามัญชนไปยังพระกรรณ ของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง ทุกถ้อยคำพระองค์รับฟังอย่างตั้งพระทัย หมายมั่นจะให้พสกนิกรของพระองค์ได้พ้นทุกข์ ด้วยพระเมตตาอันเปี่ยมล้น จึงพระกรุณารับเด็กหญิงตอยยีบะห์ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ เพื่อวันหนึ่งพระบารมีจะช่วยให้เด็กน้อยได้พ้นจากโชคชะตาอันโหดร้าย
ด้วยพระบารมี หลายหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งจากชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ จากหลายท้องที่ เข้ามาให้การช่วยเหลือเพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ความช่วยเหลือต่างๆ หลั่งไหลมาสู่พื้นที่เล็กๆ แห่งดินแดนปลายด้ามขวาน
ครูและคณะช่วยเหลือตอยยีบะห์ ที่โรงเรียนบ้านปักปลา
"ชีวิตจะดีขึ้นได้คงต้องเริ่มที่ปัจจัยแวดล้อม บ้านของตตอยยีบะห์ ถูกปรับสภาพให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตประจำวัน เช่นการทำทางลาดเพื่อให้รถวีลแชร์สามารถเข้าออกบ้านได้สะดวกขึ้น วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาสก็จัดทำและพัฒนารถวีลแชร์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่เหมาะสมกับสรีระที่ผิดปกติ จนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง มีหน่วยงานทหารเข้ามาทำถนนหนทางให้ดีขึ้น จนกระทั่งไฟฟ้าประปาก็มาเข้าถึง"
สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชทานบ้านหลังใหม่บนที่ดินผืนเดิมเพราะสภาพบ้านตอนนั้นทรุดโทรมมาก และทรงตั้งพระทัยไว้ว่า "คนพิการจะสามารถใช้ชีวิตอย่างเช่นคนปกติได้ เพียงแต่ต้องมีเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้" อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านปักปลา กล่าวอย่างปลื้มปีติ ที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระเมตตา"
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และเป็นคณะกรรมการที่สนองพระราชดำริในการให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงตอยยีบะห์เมื่อ 20 ปีก่อน กล่าวว่า การช่วยเหลือคนพิการนั้นจะต้องมีขั้นตอนและต้องติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นกรณีของตอยยีบะห์ ทางคณะกรรมการก็ดูแลตั้งแต่ยังเป็นเด็กอนุบาล จนถึงตอนนี้สามารถเรียนจนจบมหาวิทยาลัยได้ การปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็เพื่อให้ตอยยีบะห์สามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด เมื่อตอยยีบะห์ดำเนินชีวิตด้วยตัวเองได้มากขึ้น ต่อไปก็ต้องสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงรับสั่งให้คณะกรรมการไปดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้
การประชุมติดตามความช่วยเหลือตอยยีบะห์ สือแม
"ใครจะเชื่อว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตด้วยตนเองได้ แค่คอมพิวเตอร์ธรรมดายังมีราคาเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าไม่ถึง จะมีสักกี่คนที่คิดถึงตรงนั้น แต่สมเด็จพระเทพฯ เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นและต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งสามารถนำมาช่วยเหลือคนพิการได้"
ตอยยีบะห์ที่ไม่มีแขนและขา ครั้นจะใส่ขาเทียมก็ไม่อาจทำได้เพราะไม่มีส่วนของตอขา ทางศูนย์วิจัยจึงได้คิดค้นรถเข็นไฟฟ้าและระบบการควบคุมทิศทางที่ติดตั้งสำหรับใช้หัวไหล่แทนการใช้มือ ส่วนเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์นั้นก็ได้ออกแบบแทรคบอลที่ใช้งานร่วมกับโปรแกรมแป้นพิมพ์บนจอคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถพิมพ์งานได้ แม้กระทั่งเรื่องการรับประทานอาหาร ก็ยังมีจานที่ถูกออกแบบมาพิเศษซึ่งทำให้ตอยยีบะห์ ซึ่งไม่มีแขนแต่ยังสามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ คิดค้นขึ้น จนวันนี้เด็กหญิงตอยยีบะห์สามารถเรียนจนจบมหาวิทยาลัยและมีงานทำอย่างคนปกติ สามารถพลิกฟื้นชีวิตของตัวเองและหารายได้มาตอบแทนพระคุณของมารดาได้อีกด้วย"
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ คณะกรรมการที่สนองพระราชดำริ ดูแลตอยยีบะห์ สือแม ถึง 20 ปี
หลักการช่วยเหลือคนพิการ ต้องทำเป็นระบบและต่อเนื่อง ต้องคอยติดตามดูผลต่อเนื่อง อย่างตอยยีบะห์ที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ เลยทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว ตอนนี้ก็ต้องมาคิดวิเคราะห์ดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร การให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกัน เพราะลักษณะความพิการแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้เหมาะสมกับคนนั้นๆ ส่วนกระบวนการให้ความช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 คือการเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ ซึ่งแต่ละคนจะใช้ระยะเวลามากน้อยไม่เท่ากัน
ขั้นที่ 2 คือการได้รับการศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายถึงการศึกษาที่เป็นวิชาสามัญเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการฝึกวิชาชีพด้วย
ขั้นที่ 3 คือการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้
ทั้งหมดนี้เรียกว่าการเปลี่ยนภาระ เปลี่ยนภาระที่คนอื่นต้องดูแล กลายมาเป็นภาระที่ต้องดูแลตัวเองได้ ศ.ดร.ไพรัช กล่าวถึงวิธีการทำงานเพื่อสนองพระราชดำริ
ชีวิตของเด็กพิการจากปลายด้ามขวาน สามารถยืนเด่นเป็นสง่าแม้จะไม่มีซึ่งแขนขา แต่เพราะน้ำพระทัยจากสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงรับอุปการะด้วยพระเมตตา ตอยยีบะห์ในวัย 24 ปี นั้นสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้สมใจ วันนี้เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าคนพิการสามารถดูแลตัวเองและสร้างรายได้ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของชาวนราธิวาส ที่ร่วมมือร่วมใจส่งเสริมให้ตอยยีบะห์มาถึงในจุดหมาย ซึ่งครั้งหนึ่งยากที่จะเชื่อว่าจะมาถึงได้
นางสาวตอยยีบะห์ สือแม หลังเรียนจบได้ทดลองงานที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส
"ตอนนี้กล้าที่จะคิดกล้าที่จะฝันถึงอนาคต ท่านเปรียบเสมือนแม่คนที่สอง ที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ตนเองและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตที่เป็นปกติได้กลายเป็นความจริง ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน"
พระสุรเสียงที่ตรัสด้วยความมุ่งมั่น "ให้ค้นคว้าหาความรู้ใส่ตัว เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้มีการมีงานที่ดีทำ วันหนึ่งข้างหน้าจะได้แบ่งเบาภาระของครอบครัว" ซึ่งทุกคำพูดยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจเสมอมา พระอัจริยภาพที่สอนให้พึ่งพาตนเอง ไม่ใช่แค่รอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองเสมอ เพื่อทำให้ตนเองมีคุณค่าแม้จะเป็นคนพิการก็ตาม
"ชีวิตนี้คงไม่มีอะไรที่จะสามารถทดแทนพระคุณของพระองค์ท่านได้ แต่จะขอทำทุกอย่างเพื่อให้พระองค์ท่านภาคภูมิใจ พระราชปณิธานที่พระองค์ทรงตั้งไว้ว่าคนพิการมีความสามารถที่จะได้รับการศึกษาและอยู่ร่วมกับคนปกติทั่วไปได้ ตอนนี้ตนเองได้สนองพระราชปณิธานนั้นแล้ว "ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ" ตอยยีบะห์กล่าวด้วยใบหน้าและน้ำเสียงที่มุ่งมั่นแฝงไปด้วยความสุขอย่างเอ่อล้น"
แม้ไม่มีแขนขา แต่สามารถใช้ส่วนอื่นของร่างกายทดแทนได้
เรื่องราวชีวิตของตอยยีบะห์ แม้จะเริ่มต้นด้วยความทุกข์ระทมแต่ก็จบลงด้วยความสุข ด้วยพระเมตตาที่ทรงหยิบยื่นอนาคตอันสดใส ให้กับพสกนิกรผู้อาภัพแห่งดินแดนปลายด้ามขวาน เป็นเพียงแค่ 1 เรื่องราวในอีกหลายๆ ฉากชีวิตของผู้พิการอื่นๆ ที่สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นว่า เทคโนโลยีจะสามารถทำให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ให้ความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้และใช้งานในการพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจนพัฒนาให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ "60 พรรษา รัตนราชสุดา วิทยาปริทรรศน์" จัดทำโดย โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระรราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved