ผู้สมัครงาน
แชร์ว่อนโซเชียล! หนุ่มออสซี่อ้างถูกพัดลมในสระน้ำคอนโดดังย่านอโศก ดูดแผ่นหลัง ด้านนิติบุคคล ขอความเป็นธรรม ยัน ร่องรอยบาดเจ็บ คนละเรื่องกับช่องระบายน้ำ ที่ไม่มีแรงดึงดูด แต่ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ สำรองจ่ายให้เต็มที่ ติดเพียงผู้ประสบเหตุไม่ยอมเซ็นหนังสือยืนยันความสัมพันธ์ว่าเป็นเพื่อนกับเจ้าของห้องที่แท้จริง …
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สังคมออนไลน์กำลังพากันแชร์ข้อความและคลิปวิดีโอจากผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง หลังจากได้โพสต์เล่าเหตุการณ์ประสบการณ์เฉียดตายของครอบครัว โดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ช่วงเวลาประมาณ 18.52 น. หนุ่มออสเตรเลียวัย 34 ปี ผู้บริหารระดับสูงค่ายรถยนต์แห่งหนึ่งที่เมืองเมลเบิร์น ประสบเหตุถูกพัดลมในสระน้ำคอนโด 'ดิ แอดเดรส อโศก’ ดูดนานเกือบ 20 นาที ขณะนั่งพักผ่อน ทำให้ขยับตัวไม่ได้ ก่อนตะโกนขอความช่วยเหลืออย่างดังสุดเสียง และพยายามแกะตัวเองออก จนที่สุดแล้วสามารถหลุดออกมาได้พร้อมกับรอยไหม้เกรียมที่ด้านหลังอย่างรุนแรง ก่อนภรรยาจะเรียกวินรถจักรยานยนต์ นำส่งโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านสุขุมวิท ในสภาพสุดเวทนาเนื่องจากสลบอยู่หลังจักรยานยนต์ และหลังเกิดเหตุ ผู้โพสต์อ้างว่า นิติบุคคลไม่แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
รายละเอียดทั้งหมด จากคำบอกเล่าในเหตุการณ์
ล่าสุด นายเมธา ขำดี ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ดิ แอดเดรส อโศก ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่าเหตุเกิดบริเวณอ่างออนเซ็น ภายในสระว่ายน้ำชั้น 44 ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ รปภ. ได้รับรายงานจากลูกบ้านว่ามีผู้ประสบเหตุบริเวณสระว่ายน้ำ จึงรายงานกับ รองผู้จัดการอาคารที่ยังปฎิบัติงานอยู่ ให้รีบขึ้นไปที่เกิดเหตุ หลังรับแจ้งใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที เมื่อไปถึงสระว่ายน้ำกลับไม่พบผู้ใด และจากการตรวจสอบกระแสไฟฟ้าบริเวณดังกล่าว ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ ขณะเดียวกันได้พบขวดเบียร์เปล่าอยู่บริเวณข้างสระ
จากนั้น รองผู้จัดการอาคารได้ลงมาสอบถามลูกบ้านที่มาแจ้ง รปภ.ว่าทราบหรือไม่ผู้ประสบเหตุพักอยู่ห้องใด แต่ไม่มีผู้ใดทราบ จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ รปภ.บริเวณล็อบบี้ ก็ได้ทราบว่าภรรยาผู้ประสบอุบัติเหตุ ทำการตะโกนต่อว่าอย่างรุนแรง และจะขอพบเจ้าของตึกอย่างเดียว เพื่อให้ดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย ทางนิติฯ จึงพยายามสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยรอบ เพื่อจะตามหาเบาะแสผู้ประสบเหตุ และติดตามให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด
นิติบุคคลฯ เผยคลิปกล้องวงจรปิดช่วงเวลาเกิดเหตุ
จากนั้นไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทางภรรยาของหนุ่มออสซี่รายดังกล่าวได้ติดต่อมายังสำนักงานนิติบุคคล จึงดำเนินการสอบถามว่าพักอยู่ห้องเลขที่เท่าไร แต่ภรรยาสาว ระบุว่าจำเลขที่ห้องไม่ได้ และกำลังอยู่โรงพยาบาล โดยขอให้ทางนิติฯ รับผิดชอบสามีตนด้วย ก่อนที่ช่วงบ่ายวันถัดมา (27 พ.ย.) ผู้ประสบเหตุและภรรยาจะเข้าพบกับผู้จัดการอาคารชุด เพื่อขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยฝั่งสามีเล่าว่าวันเกิดเหตุขณะนั่งแช่บ่อออนเซ็น ได้เอาหลังพิงกับช่องระบายน้ำ ก่อนจะถูกดูด ตนจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในขณะนั้นบุตรสาวของตนเองซึ่งเล่นอยู่บริเวณนั้น ได้วิ่งมาและกระโดดลงในบ่อเพื่อให้ความช่วยเหลือ ตนเองเห็นว่าบุตรสาวตนเองจะไม่ปลอดภัย เลยกลั้นใจพลิกไหล่ จนหลุดออกจากจุดดังกล่าว โดยหลังจากนั้น ได้ให้ภรรยานำส่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาไปกว่า 35,000 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ทีมนิติบุคคล และตัวแทนบริษัทประกันภัยฯ ได้นำกระเช้าผลไม้ไปมอบให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งนิติบุคคลฯ รับปากว่าจะทำเรื่องเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับบริษัทประกัน ซึ่งภรรยาผู้เสียหายได้แจ้งต่อไปว่า วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 หมอจะนัดอีกครั้งและจะนำใบเสร็จรวบรวมให้นิติบุคคลฯ อีกครั้งหนึ่ง และแจ้งว่า ตนพร้อมครอบครัวจะเดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย ในวันอังคาร ที่ 1 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่ง ผจก.นิติบุคคลฯ ได้รับปากว่า นิติบุคคลฯ จะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน เนื่องจากถ้ารอประกันภัยอาจไม่ทันการ ขณะที่ค่าชดเชยจากการหยุดงานของตัวผู้ประสบเหตุ ผู้จัดการนิติบุคคลฯ ระบุว่า แล้วแต่บริษัทประกันภัยจะพิจารณา พร้อมจ่ายให้ตามที่บริษัทประกันภัยชดเชย แต่ทั้งนี้ก็ต้องจัดเตรียมเอกสารของผู้ประสบเหตุเพื่อรวบรวมให้กับบริษัทประกันภัย
เพื่อให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความชัดเจน นิติบุคคลฯ จึง ได้ติดต่อไปยังเจ้าของห้องและสอบถามว่าผู้ที่มาประสบเหตุในครั้งนี้มีความสัมพันธ์กับเจ้าของห้องอย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเพื่อน นิติบุคคลฯ จึงขอให้ทางเจ้าของห้องทำหนังสือยืนยันว่าถึงความสัมพันธ์ของผู้ได้ประสบอุบัติเหตุ โดยขอให้ผู้ประสบอุบัติเหตุรวมถึงภรรยาผู้เสียหาย เซ็นในเอกสารที่จะต้องส่งให้กับบริษัทประกันภัย แต่ผู้ประสบอุบัติเหตุและภรรยาไม่ยอมเซ็น ซึ่งนิติบุคคลฯ จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าวประกอบในการเรียกร้องแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประสบอุบัติเหตุและภรรยา
นิติบุคคล ยืนยันเอกสาร พร้อมสำรองจ่ายเต็มที่ แต่ติดที่ผู้ประสบเหตุและภรรยา ไม่เซ็นเอกสารยืนยันความสัมพันธ์ 'เพื่อน' กับทางเจ้าของห้องที่แท้จริง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดบริเวณจุดเกิดเหตุ พบว่าผู้ประสบเหตุได้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปดื่มบริเวณบ่อออนเซ็นด้วย ซึ่งผิดต่อระเบียบการใช้พื้นที่สโมสร อีกทั้งลักษณะการบาดเจ็บนั้นมี 2 รอย ซึ่งใหญ่กว่าช่องระบายน้ำที่มีขนาด 20*25 ซม. โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากอุปกรณ์ดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยหลังเกิดเหตุทาง นิติบุคคลได้ทำการทดสอบโดยให้ช่างประจำอาคารชุด เข้าไปนั่งในออนเซ็นบริเวณดังกล่าว ก็มิได้มีแรงดูดแต่อย่างใด แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าว นิติบุคคลฯ มิได้นิ่งนอนใจ จึงประสานงานไปยัง บริษัท ล้ำเลิศวิศวกรรม จำกัด ผู้วางระบบออนเซ็น เข้ามาตรวจสอบเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 58 แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆ เนื่องจากช่องดังกล่าวเป็นเพียงทางระบายน้ำ และลูกบ้านชาวต่างชาติที่กำลังเล่นน้ำในบริเวณนั้น ได้ขอเข้าร่วมทดสอบ ก็ไม่พบว่ามีแรงดึงดูดแต่อย่างใด
นิติฯ ยัน ช่องเกิดเหตุ ไม่มีมอเตอร์ ไม่มีแรงดึงดูด เป็นเพียงทางระบายน้ำ
หลังเกิดเหตุ นิติบุคคล ประสานช่าง ผู้ติดตั้ง ตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ ขณะที่ลูกบ้านชาวต่างชาติกำลังเล่นน้ำ ได้ขอเข้าร่วมทดสอบ ไม่พบความผิดปกติ หรือแรงดึงดูดแต่อย่างใด
“อาคารเราเปิดให้ลูกบ้านเข้าพักอาศัยมา 3 ปี ไม่เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน สำหรับจุดเกิดเหตุเป็นเพียงช่องระบายน้ำเล็กๆ ไม่มีแรงดึงดูด ไม่ใช่พัดลมตามที่ถูกกล่าวอ้าง และขอยืนยันว่าอาคารชุด ดิ แอดเดรส อโศก มีการตรวจเช็คระบบต่างๆ ภายในอาคารอย่างสม่ำเสมอ” นายเมธา กล่าวปิดท้าย.
กฎระเบียบการใช้งานสระว่ายน้ำ คอนโด 'ดิ แอดเดรส อโศก'
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved