สิ้นสุดการรอคอย “รถไฟฟ้า” มาหาซะที เจาะลึกทุกสถานี 10 เส้นทางผ่านบ้านใคร

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2356
หางาน,สมัครงาน,งาน,สิ้นสุดการรอคอย “รถไฟฟ้า” มาหาซะที เจาะลึกทุกสถานี 10 เส้นทางผ่านบ้านใคร

หลังจากโดนสารพัดปัญหาโรคเลื่อนเล่นงาน จนต้องชะเง้อคอรอคอยมาหลายปี ในที่สุดโครงการอภิมหาโปรเจกต์รถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย ที่คนเมืองกรุงและปริมณฑลเฝ้าฝันให้เป็นฮีโร่ช่วยแก้ปัญหารถติดก็ใกล้ความเป็นจริงเข้ามา หลัง “รัฐบาลลายพราง” นำโดยบิ๊กตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควงคู่บิ๊กจิน-ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม สวมบท “เสี่ยสั่งลุย” เข็นโครงการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

แต่ถึงตรงนี้หลายคนยังอดสงสัยไม่ได้ว่ารถไฟฟ้า 10 สายที่กำลังเกิดขึ้น มีเส้นทางไหนแล่นผ่านที่ใดบ้าง รวมถึงแอบลุ้นว่าจะมีสถานีไหนจอดหน้าบ้านเราหรือไม่ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ” ขออาสารวบรวมข้อมูลทั้ง 10 สาย มาให้ติดตามและอัพเดตความคืบหน้าไปพร้อมๆกัน

ชานเมืองสายสีแดงเข้ม
หัวหมาก–บางซื่อ–ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต

เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสีแดง มีเส้นทางยาวมากๆ รัฐบาลจึงต้องซอยย่อยการก่อสร้าง ช่วงแรก บางซื่อ–รังสิต–ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีระยะทาง 36.3 กม. ขณะนี้ผู้รับเหมากำลังเร่งก่อสร้างในช่วงบางซื่อ-รังสิตก่อน 26 กม. โดยใช้เส้นทางตอม่อโฮปเวลล์เดิมที่ขนานกับทางรถไฟในการก่อสร้าง คาดจะแล้วเสร็จในปี 2561 เปิดให้บริการ 10 สถานีด้วยกัน

เริ่มต้นจาก 1.ศูนย์กลางสถานีบางซื่อ แถวถนนเทอดดำริ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีแดงอ่อน และแอร์พอร์ตลิงก์ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ 2.สถานีจตุจักร บริเวณใกล้กับบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11 ผ่าน 3.สถานีวัดเสมียนนารี 4.สถานีบางเขน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5.สถานีทุ่งสองห้อง ใกล้กองกำกับการสุนัขตำรวจ ก่อนมาหยุดที่ 6.สถานีหลักสี่ เยื้องห้างไอทีสแควร์ ซึ่งสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ 7.สถานีการเคหะ ใกล้แฟลตการเคหะฯ ดอนเมือง 8.สถานีดอนเมือง 9.สถานีหลักหก ใกล้หมู่บ้านเมืองเอก และสิ้นสุด 10.สถานีรังสิต แถวหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

ส่วนช่วงที่เหลืออีก 10 กม.ระหว่าง สถานีรังสิต–ม.ธรรมศาสตร์ ตอนนี้ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่คาดว่าจะประกวดราคาได้ปี 2558 เปิดให้บริการปลายปี 2561 เช่นกัน โดยมีการสร้างเพิ่มอีก 5 สถานี ตามแนวถนนเลียบคลองเปรมประชากร ได้แก่ 1.สถานีรังสิต 2.สถานีคลองหนึ่ง 3.สถานี ม.กรุงเทพ 4.สถานีเชียงราก และ 5.สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สายสีแดงนอกจากจะขึ้นทิศเหนือของกรุงเทพฯแล้ว ยังมีขยายลงทางใต้เช่นกัน เส้นทาง บางซื่อ–หัวลำโพง ระยะทาง 25.5 กม. คาดว่าก่อสร้างเสร็จปี 2561 มี 6 สถานี เริ่มจาก 1.สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ 2.สถานีสามเสน แถวสามเหลี่ยมรถไฟจิตรลดา 3.สถานีราชวิถี ซึ่งสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนได้ 4.สถานียมราช เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีส้ม 5.สถานียศเส เชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส 6.สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน

ชานเมืองสายสีแดงอ่อน
ตลิ่งชัน–บางซื่อ–หัวหมาก

หลังจากผ่านรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ที่วิ่งเชื่อมฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ของกรุงเทพฯเข้าด้วยกันแล้ว ต่อมาไปดู สายสีแดงอ่อน ที่จะสร้างเพื่อเชื่อมฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก โดยมีแบ่งโครงการเป็น 2 ช่วงเช่นกัน ช่วงแรก บางซื่อ–ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว มี 7 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกลางบางซื่อ 2.สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับสายสีม่วง 3.สถานีพระราม 6 4.สถานีบางกรวย-กฟผ. 5.สถานีบางบำหรุ 6.สถานีชุมทางตลิ่งชัน ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีบ้านฉิมพลี แต่น่าเสียดายแม้ตอนนี้โครงสร้างจะทำเสร็จแล้ว แต่ยังเปิดเดินรถไม่ได้ เพราะต้องรอเชื่อมระบบเข้ากับรถไฟฟ้าสีแดง บางซื่อ-รังสิต เสียก่อน

ช่วงต่อมา บางซื่อ–หัวหมาก ระยะทาง 25.5 กม.หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ จะเปิดประมูลโครงการได้ปี 2558 และเสร็จในปี 2561 โดยเส้นทางนี้เป็นช่วงสั้นๆ 7 สถานี แต่เต็มไปด้วยความหฤหรรษ์ เพราะมีมุดดินและลอยฟ้าสลับกัน เริ่มออกจากสถานีบางซื่อ ก็ต้องมาลดระดับมุดอุโมงค์มาโผล่สถานี 2.ราชวิถี จากนั้นก็ถูกยกระดับทางขึ้นมาสู่ 3.สถานีพญาไท จากนั้นขึ้นลอยฟ้ามาจอด 4.สถานีมักกะสัน ต่อด้วย 5.สถานีศูนย์วิจัย 6.สถานีรามคำแหง และสิ้นสุดที่ 7.สถานีหัวหมาก ซึ่งสามารถเชื่อมกับรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีเหลืองได้อีกด้วย

ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
พญาไท–บางซื่อ–ดอนเมือง

โครงการต่อมา แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วง พญาไท–บางซื่อ–ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม. เดิมทีถูกพ่วงเข้าไปกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ทำไปทำมารัฐบาลเห็นว่าเพื่อความคล่องตัวจึงได้แยกเป็นเส้นทางใหม่ดีกว่า โดยมีจุดหมายสร้างเพื่อเชื่อมการเดินทางสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเข้าด้วยกัน ซึ่งแนวทางเส้นทางนี้จะสร้างต่อจากช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-พญาไท ไปถึงดอนเมือง โดยมีแนวเส้นทางคู่ขนานกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ 1.สถานีราชวิถี 2.สถานีบางซื่อ 3.สถานีบางเขน 4.สถานีหลักสี่ 5.สถานีดอนเมือง โดยช่วงเส้นทาง พญาไท-ถ.พระราม 6 จะเป็นทางยกระดับ จากนั้นพอถึง ถ.พระราม 6-ถ.ระนอง 1 จะมุดลงใต้ดินตรงสามแยกจิตรลดา และยกระดับอีกครั้งจาก ถ.ระนอง 1 คาดก่อสร้างเสร็จปี 2562

สายสีม่วง
บางใหญ่–บางซื่อ

ช่วง บางใหญ่–บางซื่อ ถือว่าเป็นสายที่คืบหน้า ขณะนี้ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 96% พร้อมกับกำหนดวันเปิดใช้เป็นทางการวันที่ 12 ส.ค.2559 อีกด้วย เป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้าทั้งหมด 16 สถานี ได้แก่ 1.สถานีคลองบางไผ่ 2.สถานีตลาดบางใหญ่ 3.สถานีสามแยกบางใหญ่ 4.สถานีบางพลู 5.สถานีบางรักใหญ่ 6.สถานีท่าอิฐ 7.สถานีไทรม้า 8.สถานีสะพานพระนั่งเกล้า 9.สถานีแยกนนทบุรี 1 10.สถานีศรีพรสวรรค์ 11.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี 12.สถานีกระทรวงสาธารณสุข 13.สถานีแยกติวานนท์ 14.สถานีวงศ์สว่าง 15.สถานีบางซ่อน และ 16.สถานีเตาปูน

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน จากนั้นเข้าถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี มุ่งหน้าทิศเหนือสู่สถานีบางซ่อน ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ผ่านแยกวงศ์สว่าง เข้าสู่เขต ต.บางเขน จ.นนทบุรี เลี้ยวขวาที่แยกติวานนท์เข้าสู่ถนนติวานนท์ ผ่านกระทรวงสาธารณสุข เลี้ยวซ้ายก่อนถึงแยกแครายสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ จากนั้นมุ่งหน้าไปทิศตะวันตก เชื่อมต่อกับจุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ผ่านศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านแยกบางรักน้อยหรือจุดตัดถนนราชพฤกษ์ และแยกบางพลู เลี้ยวขวาไปถนนกาญจนาภิเษก ผ่านชุมชนตลาดบางใหญ่ ไปสิ้นสุดที่คลองบางไผ่ จ.นนทบุรี รวมระยะทาง 23 กม.

สายสีเขียว
หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต
แบริ่ง–สมุทรปราการ

มาที่สายสีเขียว ที่จะมีการสร้างต่อหัวต่อท้าย จากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ให้บริการในปัจจุบัน โดยช่วง หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต เพิ่งเปิดซองประมูลไปสดๆร้อนๆ และคาดว่าจะลงนามพร้อมก่อสร้างได้ต้นปี 2558 มีทั้งสิ้น 16 สถานี ได้แก่ 1.ห้าแยกลาดพร้าว 2.พหลโยธิน 24 3.รัชโยธิน 4.เสนานิคม 5.ม.เกษตรศาสตร์ 6.กรมป่าไม้ 7.บางบัว 8.กรมทหารราบที่ 11 9.วัดพระศรีมหาธาตุ 10.อนุสาวรีย์หลักสี่ 11.สายหยุด 12.สะพานใหม่ 13.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 14.พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 15.สถานี กม.25 และ 16.คูคต สำหรับแนวเส้นทางเริ่มต้นจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหมอชิต ผ่านห้าแยกลาดพร้าว มุ่งสู่แยกรัชโยธิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงแยกหลักสี่ หลบอุโมงค์ไปจนถึงหน้าตลาดยิ่งเจริญ จากนั้นไปตามถนนพหลโยธิน และเบี่ยงออกขวาข้ามคลองสอง ผ่านสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่เกาะกลางของถนนลำลูกกา จนสิ้นสุดที่คลองสอง สถานีคูคต โดยใช้เวลาสร้างเสร็จได้ในปี 2562

ส่วนเส้นทาง แบริ่ง–สมุทรปราการ จะสร้างเป็นรถไฟลอยฟ้าตลอด 13 กม. และสร้างเสร็จได้ปี 2563 ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ 1.สถานีสำโรง 2.สถานีปู่เจ้าสมิงพราย 3.สถานีเอราวัณ 4.สถานีโรงเรียนนายเรือ 5.สถานีสมุทรปราการ 6.สถานีศรีนครินทร์ 7.สถานีแพรกษา 8.สถานีสายลวด และ 9.สถานีเคหะสมุทรปราการ สำหรับแนวทางเส้นทางก่อสร้าง จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีแบริ่ง ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง แยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย จนถึงบริเวณจุดตัดถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ จากนั้นข้ามทางต่างระดับสุขุมวิทไปตามเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนสิ้นสุดหน้าสถานีรถไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง.

สายสีน้ำเงิน
บางซื่อ–ท่าพระ
หัวลำโพง–บางแค

สายสีน้ำเงิน เส้นทางที่ดื่มด่ำได้หลายบรรยากาศ ทั้งลอยฟ้า ใต้ดิน และอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีระยะทาง 27 กม. รวม 21 สถานี เริ่มจาก ช่วง บางซื่อ–ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. มีทั้งหมด 10 สถานี ได้แก่ 1.สถานีเตาปูน 2.สถานีบางโพ 3.สถานีบางอ้อ 4.สถานีบางพลัด 5.สถานีสิรินธร 6.สถานีบางยี่ขัน 7.สถานีบางขุนนนท์ 8.สถานีแยกไฟฉาย 9.สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 และ 10.สถานีท่าพระ ในเส้นทางนี้จะเป็นลอยฟ้า เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านแยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.จรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ

ต่อมาช่วง หัวลำโพง–บางแค ระยะทาง 14 กม. มี 11 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีวัดมังกรกมลาวาส 2.สถานีวังบูรพา 3.สถานีสนามไชย 4.สถานีอิสรภาพ 5.สถานีท่าพระ 6.สถานีบางไผ่ 7.สถานีบางหว้า 8.สถานีเพชรเกษม 48 9.สถานีภาษีเจริญ 10.สถานีบางแค และ 11.สถานีหลักสอง สำหรับแนวเส้นทาง เริ่มจากสถานีหัวลำโพง วิ่งแบบรถใต้ดินไปตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกร–กมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาดไปจนถึงคลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ และปรับโหมดวิ่งแบบลอยฟ้า มุ่งสู่แยกท่าพระ ซึ่งใช้สถานีร่วมกับสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จากนั้นวิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ บางแค สิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก โดยสายสีน้ำเงินทั้ง 2 ช่วง คาดเปิดบริการได้ปี 2562

ขณะที่ช่วง บางแค–พุทธมณฑล สาย 4 กำลังเร่งศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเพื่อเชื่อมต่อสถานีหลักสองไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 รองรับการเดินทางประชาชนฝั่งธนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีระยะทาง 8 กม.ประกอบด้วย 4 สถานี 1.สถานีพุทธมณฑลสาย 2 2.สถานีทวีวัฒนา 3.สถานีพุทธมณฑลสาย 3 4.สถานีพุทธมณฑลสาย 4 คาดก่อสร้างเสร็จปี 2564

สายสีส้ม
ศูนย์วัฒนธรรม–มีนบุรี

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม–มีนบุรี กำลังรอขออนุมัติจาก ครม.ช่วงต้นปี 2558 ระยะทาง 20 กม. เป็นโครงการทั้งใต้ดินและลอยฟ้า ประกอบด้วย 17 สถานี ได้แก่ 1.ศูนย์วัฒนธรรมฯ หน้าห้างเอสพลานาด 2.สถานี รฟม. ติด ถ.พระราม 9 3.ประดิษฐ์มนูธรรม ปากซอยวัดพระรามเก้า 4.รามคำแหง 12 หน้าห้างเดอะมอลล์ 5.รามคำแหง หน้า ม.รามคำแหง 6.ราชมังคลา หน้าสนามกีฬา 7.หัวหมาก หน้า รพ.รามคำแหง 8.ลำสาลี แยกลำสาลี 9.ศรีบูรพา หน้าห้างบี๊กซี 10.คลองบ้านม้า ซ.รามคำแหง 92-94 11.สัมมากร ใกล้หมู่บ้านสัมมากร 12.น้อมเกล้า หน้า ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า 13.ราษฎร์พัฒนา หน้าซอยมิสทิน 14.มีนพัฒนา หน้าวัดบางเพ็ญใต้ 15.เคหะรามคำแหง ซ.รามคำแหง 184 16.มีนบุรี อยู่สะพานข้ามคลองสองต้นนุ่น และ 17.สุวินทวงศ์ ใกล้แยกสุวินทวงศ์

แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมเป็นแบบรถใต้ดิน เข้าสู่พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง รฟม. และมุ่งหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนเข้าสู่ถนนพระราม 9 บริเวณหน้าที่ทำการของ รฟม.จากนั้นไปทิศตะวันออกผ่านแยกพระราม 9 ประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ.รามคำแหง ผ่านมหาวิทยาลัย รามคำแหง ราชมังคลากีฬาสถาน แยกลำสาลี ก่อนถึงจุดตัดถนนศรีบูรพา เพื่อยกระดับลอยฟ้าไปตามแนวเกาะกลางสู่สถานีบ้านม้า ผ่านหมู่บ้านสัมมากร ข้ามทางแยกต่างระดับรามคำแหงจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก ผ่านแยกลาดบัวขาว จุดตัดถนนมีนพัฒนา ไปเคหะรามคำแหง ก่อนสิ้นสุดเส้นทางที่ ถ.สุวินทวงศ์ คาดก่อสร้างเสร็จปี 2563

สายสีชมพู
แคราย–ปากเกร็ด–มีนบุรี

รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย–มีนบุรี ระยะทางยาวถึง 36 กม. เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล ประกอบด้วย 30 สถานี ได้แก่ 1.ศูนย์ราชการนนทบุรี 2.แคราย ใกล้ รพ.โรคทรวงอก 3.สนามบินน้ำ ซ.ติวานนท์ 35 4.สามัคคี ใกล้แยกสามัคคี 5.กรมชลประทาน ซ.ติวานนท์ 4-6 6.ปากเกร็ดหัวมุมห้าแยก 7.เลี่ยงเมืองปากเกร็ด ถ.แจ้งวัฒนะ 8.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ใกล้ห้างเซ็นทรัล พลาซา 9.เมืองทองธานี ใกล้ทางเข้าเมืองทองธานี 10.ศรีรัช ทางเข้าอิมแพค 11.เมืองทอง 1 ซ.แจ้งวัฒนะ 14 12.ศูนย์ราชการ หน้ากรมการกงสุลและการสื่อสาร 13.ทีโอที ซ.แจ้งวัฒนะ 5-7 14.หลักสี่ ใกล้ไอทีสแควร์ เชื่อมต่อสายสีแดง 15.ราชภัฏพระนคร หน้าห้างแม็กซ์แวลู และ ม.ราชภัฏพระนคร

16.วงเวียนหลักสี่ ใกล้อนุสาวรีย์หลักสี่ เชื่อมสายสีเขียว 17.รามอินทรา 3 ใกล้ห้างเซ็นทรัล 18.ลาดปลาเค้า ใกล้สะพานข้ามแยก 19.รามอินทรา 31 ใกล้ฟู้ดแลนด์ 20.มัยลาภ รามอินทรา ซ.12-14 21.วัชรพล ใกล้ซอยวัชรพล 22.รามอินทรา 40 ระหว่าง ซ. 40-42 23.คู้บอน แยกนวมินทร์ 24.รามอินทรา83 ใกล้ รพ.สินแพทย์ 25.วงแหวนตะวันออก หน้าแฟชั่นไอส์แลนด์ 26.นพรัตนราชธานี ใกล้แยกเข้าสวนสยาม 27.บางชัน รามอินทรา ซ.109-115 28.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ 29.ตลาดมีนบุรี ถ.สีหบุรานุกิจใกล้ตลาดมีนบุรี และ 30.มีนบุรี ถ.รามคำแหง ซอย 192 ใกล้แยกร่มเกล้า จะเชื่อมกับสายสีส้ม

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีเชื่อมกับสายสีม่วง วิ่งเข้า ถ.ติวานนท์และเลี้ยวขวาห้าแยกปากเกร็ด ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ เมืองทองธานี ศูนย์ราชการ ผ่านแยกหลักสี่ เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ จากนั้นข้ามถนนวิภาวดี ไปสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และแล่นไปตามถนนรามอินทรา จนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจข้ามคลองสามวา เลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ เข้าสู่ถนนรามคำแหงจนสิ้นสุดแถวแยกร่มเกล้า คาดว่าจะเสร็จปี 2563 เช่นกัน

สายสีเหลือง
ลาดพร้าว–สำโรง

สายสีเหลืองจะก่อสร้างเป็นรถลอยฟ้าทั้งหมด 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กม. ประกอบด้วย 1.รัชดาฯ 2.ภาวนา ปากซอยภาวนา ลาดพร้าว 41 3.โชคชัย 4 ลาดพร้าว 53 4.ลาดพร้าว 65 5.ฉลองรัชหน้าห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว 81 6.วังทองหลาง หน้าโรงเรียนบางกอกศึกษา ลาดพร้าว 112 7.ลาดพร้าว 101 8.บางกะปิ ใกล้เดอะมอลล์ 9.แยกลำสาลี ด้านทิศใต้แยกลำสาลี 10.ศรีกรีฑา ด้านทิศใต้แยกศรีกรีฑา 11.พัฒนาการ ช่วงจุดตัดรถไฟและ ถ.พัฒนาการ 12.คลองกลันตัน หน้าธัญญาช็อปปิ้ง พาร์ค 13.ศรีนุช 14.ศรีนครินทร์ 38 15.สวนหลวง ร.9 กึ่งกลางห้างซีคอนสแควร์และพาราไดซ์ พาร์ค 16.ศรีอุดม 17.ศรีเอี่ยม เยื้องศุภาลัยปาร์ค 18.ศรีลาซาล 19.ศรีแบริ่ง 20.ศรีด่าน 21.ศรีเทพา 22.ทิพวัล ปากซอยหมู่บ้านทิพวัล และ 23.สำโรง ใกล้ตลาดเทพารักษ์

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว จากนั้นวิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าว จนถึงทางแยกบางกะปิ และเลี้ยวขวาไปตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่แยกลำสาลี ตัดข้ามแยกต่างระดับพระราม 9 สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ผ่านรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย โดยคาดจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2563

สายสีเขียวเข้ม
ยศเส–สนามกีฬาฯ–สะพานตากสิน–บางหว้า

ปิดท้ายกันด้วยส่วนต่อขยายสั้นของสายสีเขียวเข้ม ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดให้บริการวิ่งทางยาวจากสถานีสนามกีฬาฯ-สถานีบางหว้า ระยะทาง 14 กม. แต่แผนหลังจากนี้ จะมีการขยายเส้นทางจากสถานีสนาม กีฬาแห่งชาติเพิ่มอีก 1 สถานีเพื่อวิ่งเข้าสู่สถานียศเส ระยะทาง 1 กม. มีจุดหมายเชื่อมต่อเส้นทางสีเขียวเข้ากับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มที่สถานียศเส ซึ่งจะเป็นสถานีเดียวของส่วนต่อขยายฝั่งตะวันตก เพราะแนวเส้นทางที่เหลือจากนั้น ส่วนใหญ่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยคาดจะมีความชัดเจนในปี 2562

สรุปตบท้ายได้ว่า หากแผนลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย ไม่มีเหตุต้องสะดุดอีก ใน 4–5ปีข้างหน้ารถไฟฟ้าเครือข่ายใยแมงมุมในเมืองหลวงจะกลายเป็นฝันที่เป็นจริง หลังจากคนเมืองกรุงนั่งฝันกลางวัน...รอกันมานานแล้ว.

 

ทีมเศรษฐกิจ

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top