ผู้สมัครงาน
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติเห็นชอบเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการออกบัตรประชาชนใหม่ กรณีบัตรหายหรือชำรุด จากเดิมฉบับละ 20 บาท เป็นฉบับละ 100 บาท กระทั่งพิจารณาพบว่า ต้นทุนบัตรพุ่งสูงถึงฉบับละ 54.64 บาท วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะทำหน้าที่แสวงหาคำตอบว่า เหตุใดจึงต้องเพิ่มค่าธรรมเนียมการออกบัตรประชาชน? ต้นทุนการทำบัตรมีค่าอะไรบ้าง? รวมถึงเจาะลึกปัญหาการทุจริตด้านบัตรประชาชนว่า มีสาเหตุจากอะไร และมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ทุกคำถามมีคำตอบ...
ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงไปยัง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลการประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอเกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมการออกบัตรประชาชนใหม่ ในกรณีบัตรหายหรือถูกทำลาย บัตรชำรุด หรือแก้ไขชื่อ-สกุล ในทะเบียนบ้าน รวมถึงย้ายที่อยู่ จากค่าธรรมเนียมเดิม ฉบับละ 20 บาท เป็นฉบับละ 100 บาท เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาบัตรประจำตัวประชาชนมากขึ้น
ค่าธรรมเนียมบัตรประชาชน จาก 20 เป็น 100 เพราะ?!
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วว่า การเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรประจำตัวประชาชนในอัตรา ฉบับละ 20 บาท เป็นอัตราที่น้อยกว่าอัตราต้นทุนการดำเนินการจัดทำบัตรประชาชนต่อคน ที่จะต้องใช้ต้นทุน ฉบับละ 54.64 บาท โดยแยกเป็นค่าวัสดุบัตร ค่าวัสดุผลิตบัตรสำหรับเครื่องพิมพ์ ค่ากระบวนการพร้อมข้อมูลต่อการใช้งาน ค่าเช่าระบบคอมพิวเตอร์ และต้นทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นราคาที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ ค่าผลิต และค่าบริหารจัดการในการผลิตบัตร ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราต้นทุนการผลิต รวมถึงเพื่อให้ประชาชนเกิดแรงจูงใจในการเก็บรักษาเอกสารประจำตัวที่เป็นสมบัติของส่วนตนและเอกสารทางราชการ ไม่ให้เกิดการชำรุดหรือสูญหาย ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลใช้หลังจากที่มีการร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนเรียบร้อยแล้ว
“เหตุที่ต้องเก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 100 บาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีอัตราที่สูงกว่าค่าธรรมเนียมเดิมที่เก็บอยู่ฉบับละ 20 บาท ซึ่งส่วนใหญ่การขอออกบัตรใหม่ จะเป็นกรณีบัตรหายหรือชำรุด ที่เกิดจากความไม่ระมัดระวังของประชาชน ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐ หากถามว่าทำไมจึงไม่เก็บเท่าทุน เพราะต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจให้ประชาชนรู้จักเก็บรักษาสมบัติ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการแสดงตนกับทางราชการ”
สถิติชัด! ค่าธรรมเนียม 20 บาท ยอดบัตรหายพุ่ง 400%
นอกจากนี้ จากการสำรวจฐานข้อมูลกลางทางทะเบียน พบว่า สถิติการทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ กรณีบัตรหาย ในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2554 ถึง 31 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่เคยเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราฉบับละ 100 บาท มีจำนวน 1,416,915 ราย
ขณะที่ ช่วงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ถึง 7 มิถุนายน 2558 ลดอัตราค่าธรรมเนียมเหลือ ฉบับละ 20 บาท มีจำนวน 6,108,412 ราย
ส่วนกรณีบัตรชำรุดในสาระสำคัญ ช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึง 31 ตุลาคม 2557 มีจำนวน 3,129,281 ราย
มหาดไทย แจง ขึ้นค่าธรรมเนียม 100 บาท กรณี บัตรหาย-ชำรุด เท่านั้น
ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลง อัตราค่าธรรมเนียมการออกบัตรประชาชนจากเดิมฉบับละ 20 เป็น 100 บาทนั้น จะใช้ในกรณีบัตรหาย ถูกทำลาย หรือบัตรชำรุด หรือแก้ไขชื่อ-สกุล ในทะเบียนบ้าน รวมถึงย้ายที่อยู่
ส่วนผู้ที่ขอออกบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรก หรืออายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด หรือดำเนินการทำบัตรภายในระยะเวลาก่อนหมดอายุ หรือภายใน 60 วันหลังบัตรหมดอายุ รวมถึงผู้ที่ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้หรือน้ำท่วม จนเป็นเหตุให้บัตรสูญหาย โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของตนนั้น จะได้รับการยกเว้นเกี่ยวกับการเสียค่าธรรมเนียมออกบัตรประจำตัวประชาชน
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved