ผู้สมัครงาน
“ลูกค้าท่านหนึ่งบินจากอเมริกามาซื้อสินค้าเราเพราะได้รับความทรมานจากโรคซึ่งคนไทยน่าจะยังไม่รู้จักดี ชื่อว่าโรค...MCS (Multiple Chemical Sensitivity) หรือ EI (Environmental Illness) ซึ่งในบ้านเรา...แพทย์คงจะจ่ายยาแก้แพ้ให้ คุณอาจต้องกินมันไปทั้งชีวิต ถ้าไม่อยากมีอาการ...”
แม้ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อความโฆษณาขายหมอนและที่นอนเพื่อสุขภาพยี่ห้อหนึ่ง...แต่ประเด็นน่าสนใจที่ไม่ควรมองข้าม อยู่ตรงคำว่า “โรคซึ่งคนไทย น่าจะยังไม่รู้จักดี”
ที่จริงแล้ว MCS หรือ EI มิใช่โรคที่เพิ่งอุบัติใหม่ แต่เกิดขึ้นมานานแล้วกว่า 40 ปี ทั้งยังมีข้อสังเกตว่า เป็นโรคที่มักพบในกลุ่ม ทหารผ่านศึกสูงอายุ ในสหรัฐอเมริกา
ถ้าแปลเป็นภาษาไทย โรคนี้น่าจะได้ชื่อประมาณว่า โรคภาวะภูมิคุ้มกันไวมากต่อสารเคมีหลายอย่าง
บทความในโฆษณาชิ้นเดียวกัน บอกต่อเอาไว้ว่า ลูกค้าของเขามีอาการนอนไม่หลับ และเกิดอาการภูมิแพ้อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นอาการทางผิวหนัง มีผื่นแดง ลอก คัน อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม จมูกตัน น้ำมูกไหล ไอ ตลอดจนอาการตอบสนองจากร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ฯลฯ
“ซึ่งในบ้านเรา แพทย์ส่วนใหญ่คงจะจ่ายยาแก้แพ้ให้คุณต้องกินมันไปทั้งชีวิต ถ้าไม่อยากมีอาการ...แต่นั่นคือ การรักษาที่ปลายเหตุ...มิใช่ต้นเหตุ”
โฆษณาชิ้นนี้อ้างว่า...อาการดังกล่าวล้วนเกิดจาก การสะสมสารเคมี ทั้งจากที่บ้าน ที่ทำงาน และหนึ่งในสารเคมีนั้นมีชื่อว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งมีอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ผ้า หนัง หรือ วอลเปเปอร์
แพทย์มักแนะนำว่า ใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากสารเคมีทุกชนิดรอบตัว เช่น ลดหรือเลิกใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ทั้ง ยาฆ่าแมลง น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ แม้แต่ แชมพู เจลอาบน้ำ ก็ควรใช้แบบธรรมชาติ ออแกนิก หรือแบบฟองน้อย และควรใช้ให้น้อยลง...รวมไปถึง ห้องนอนไม่ควรแปะ วอลเปเปอร์ ที่มีกาวหรือ สี ซึ่งมีสารตะกั่วระเหยออกมา
เลิกใช้เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และ หนังทุกชนิด โดยเฉพาะจุดสำคัญที่คนชอบมองข้ามไป คือ ฟูกที่ใช้นอน เพราะคุณสัมผัสกับมันแบบทั้งตัวตลอด 8 ชั่วโมงต่อวัน แม้แต่ ที่นอนใยสังเคราะห์ ราคาหลายหมื่นบาท ที่มาพร้อมกับ สารกันไฟ ฟอร์มัลดีไฮด์ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ในโฆษณาแนะนำไว้ ควรเลิกใช้ให้หมด เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างในบ้าน ควรต้องปลอด ฟอร์มาลีน วัสดุจากธรรมชาติเท่านั้น คือ ทางออกของการแก้ปัญหาโรค MCS
“แต่การซื้อที่นอนในอเมริกาที่ไม่มีสารกันไฟนั้น ต้องได้รับใบรับรองแพทย์ก่อนจึงจะซื้อได้เพราะเขากลัวไฟไหม้ตาย (แต่ไม่ยักกลัวคนอเมริกันต้องดมสารกันไฟกันทุกคืน) โชคดีที่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายเช่นนั้น”
“หลายคนอาจไม่ทราบว่า ที่นอนที่เพิ่งซื้อมาใหม่ มีน้ำหนักกว่า 20 ปอนด์ เมื่อเวลาผ่านไปกว่าสิบปี น้ำหนักของที่นอนจะหายไปเกือบครึ่ง มันหายไปไหน ส่วนหนึ่ง...เราดมมันเข้าไปหรือไม่”
บทความดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ดร.คราวเดีย ผู้ที่ศึกษาเรื่องโรค MCS พบว่า โรคแพ้สารเคมี หรือ MCS เมื่อผู้ป่วยยิ่งได้รับสารที่ตัวเองแพ้มาสะสมในตัวมากขึ้น ความทนทานต่อสารเคมีก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ หลังจากร่างกายสะสมสารเคมีมาหลายปี เมื่อมาเจอสารเคมีปริมาณเพียงเล็กน้อย...อาการแพ้ก็จะสำแดงออกมาทันที
นี่คือสาเหตุหนึ่งที่หลายคนซึ่งเคยแพ้เมื่อตอนเด็กแล้วดีขึ้น แต่ทำไมจึงมาแพ้อีกครั้ง เมื่อตอนอายุมากขึ้น
ในโฆษณาระบุว่า หลังจากที่ลูกค้าผู้หนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคแพ้สารเคมี หรือ MCS ต้องทนทรมานกับที่นอนแบบเดิม และพยายามค้นหาที่นอนซึ่งปลอดสารเคมีมานานกว่า 6 เดือนตามคำแนะนำของแพทย์
กระทั่งเธอได้มาพบกับผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนฝ้ายยี่ห้อ...แล้วอาการของโรค MCS ของเธอดีขึ้น...จนเธอมีความประทับใจจึงเขียนจดหมายมาขอบคุณในโฆษณาชิ้นนั้นทิ้งท้ายไว้ว่า
“เพราะเราเชื่อว่า มนุษย์เกิดจากธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จึงเหมาะกับคนเรามากที่สุด แต่ยังมีคนไทยอีกหลายล้านคนที่ไม่เคยตระหนักในเรื่อง โทษของสารเคมีรุนแรงรอบตัว มันจะไม่ส่งผลในวันสองวัน แต่จะอยู่เป็นปี หลายปี ขึ้นกับความทนทานของแต่ละบุคคล และปริมาณสารเคมีที่คุณได้รับมา”
แม้จะคัดลอกมาจากบทความโฆษณาของที่นอนและหมอนซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติยี่ห้อหนึ่ง แต่อย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นว่า ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงคำว่า “MCS โรคซึ่งคนไทย น่าจะยังไม่รู้จักดี”
หลังค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ “ชีวิตเลือกได้” ซึ่งเป็นคู่มือเสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวม ผลงานภายใต้ “โครงการกำลังใจ” ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม พบว่า มีองค์ความรู้หลายอย่างที่แพทย์และนักวิชาการชั้นนำของไทยได้ร่วมกันบันทึกข้อมูลอันเป็นประโยชน์ไว้
บางตอนของหนังสือดังกล่าวระบุว่า ร่างกายคนเราตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบัน แบ่งแยกออกตามระบบอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสมองและประสาท ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบกระดูกและข้อ ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ระบบเหล่านี้ทำหน้าที่ประสานกลมกลืนกัน โดยมีการบริหารจัดการเป็นวงจร ที่สำคัญคือ ควบคุมด้วยระบบประสาท ระบบฮอร์โมน และสมอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่ปรับแต่งให้อวัยวะต่างๆทำหน้าที่ได้สมบูรณ์
“ระบบภูมิคุ้มกัน” เปรียบเหมือนกองทัพทำหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ ซึ่งธรรมชาติได้สร้างระบบนี้ให้เรามา โดยสืบทอดมาจากมารดา แล้วมาพัฒนาด้วยตนเองในภายหลัง
10 กว่าปีที่แล้ว นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับ “ยีน” พบว่า ยีน ไม่ใช่ตัวกำหนดจุดหมายปลายทางของชีวิตอย่างที่บางคนเคยเข้าใจกัน แต่ได้พบว่า มีปัจจัยอื่นทำการควบคุมเหนือยีนอีกที เรียกว่า “การควบคุมเหนือพันธุกรรม” (Epigenetic)
ซึ่งมีหลายปัจจัยส่งผลต่อยีน เช่น สิ่งแวดล้อม โภชนาการ ความเครียด อารมณ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ของยีนได้ โดยมิได้ไปเปลี่ยนพิมพ์เขียวพื้นฐานของยีนแต่อย่างใด และการปรับเปลี่ยนนี้สามารถส่งผ่านสู่รุ่นต่อไปได้ เช่นเดียวกับดีเอ็นเอในยีน
บทสรุปที่ง่ายแก่การทำความเข้าใจ ก็คือ ชีวิตของคนเราสามารถปรับแต่งได้จากสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่เรารับเข้าสู่ตัวโดยตลอด
ดังนั้น การปรับแต่งชีวิตสามารถทำได้ตลอดเวลาด้วยพฤติกรรมของเราเอง การรับสิ่งต่างๆเข้าสู่ตัวเราที่สำคัญได้รับมาจากอาหารและพฤติกรรม หรือการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง
สรุปแล้ว โรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ล้วนเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม ที่ไปปรับเปลี่ยนเหนือพันธุกรรม มิใช่การบกพร่องของยีน หรือพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว.
ที่มา :: ไทยรัฐออนไลน์
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved